N2 Gas transformer
ในยุคแรกของการปิดผนึกตัวถังหม้อแปลงเพื่อป้องกันความชื้นและอากาศไม่ให้เข้ามาทำอันตรายกับหม้อแปลง ตัวถังหม้อแปลงจะทำให้สูงขึ้นเติมน้ำมันให้ท่วมชุดขดลวดและแท๊ป แต่ไม่เต็มถังโดยปล่อยให้มีช่องว่างใต้ฝาถังซึ่งมีปริมาตรเพียงพอต่อการขยายตัวของน้ำมัน ช่องว่างนี้จะเติมด้วยอากาศแห้งหรือก๊าซบางชนิดที่ไม่ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับน้ำมันคือก๊าซเฉื่อย และมักนิยมเติมด้วยก๊าซไนโตรเจน เราจึงเรียกหม้อแปลงชนิดนี้ว่า N2 Gas Sealed
ในขณะที่น้ำมันของหม้อแปลงมีปริมาตรเพิ่มขึ้นและถึงแม้ว่าภายในถังจะช่องว่างไว้รองรับการขยายตัว แต่น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะไปอัดให้ปริมาตรของอากาศลดลง ผลก็คือเกิดมีความดันภายในตัวถังหม้อแปลง
หม้อแปลงชนิด N2 Gas Sealed นี้มีข้อดีในแง่ของการที่เป็นตัวถังปิดผนึก และสามารถผลิตได้ง่าย เพราะไม่จำเป็นต้องมีวิทยาการขั้นสูงในการผลิตตัวถังเนื่องจากตัวถังเป็นแบบ Fix Tank คือไม่ต้องการขยายตัวแบบหม้อแปลงชนิด Hermetically Sealed Fully Oil Filled ส่วนข้อเสีย คือ ตัวถังต้องรับความดันสูงกว่าหม้อแปลงชนิดอื่นๆ และอายุของประเก็นสั้นเนื่องจากไม่มีน้ำมันมาหล่อเย็นให้กับประเก็นบริเวณฝาถังและที่ Bushings
หม้อแปลงชนิด N2 Gas Sealed นี้หากไม่ต้องการให้เกิดความดันสูง ก็ต้องออกแบบให้มีค่าความสูญเสียต่ำหรือ Low Loss และให้อุณหภูมิเพิ่มต่ำหรือ Low Temperature Rise แต่หม้อแปลงก็จะมีราคาแพงและขนาดหม้อแปลงจะใหญ่
ถ้าต้องการให้มีน้ำมันมาหล่อเย็นให้กับประเก็น ก็ออกแบบให้ Bushings ออกด้านข้างคือที่ผนังของตัวถังแทนที่จะเป็นที่บนฝาถังเหมือนแบบปกติ และอาจจะเชื่อมปิดฝาถังโดยรอบไปเลยเพื่อไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการรั่วซึม แต่การเปลี่ยนให้ Bushings ออกด้านข้างจะทำให้พื้นที่ของครีบระบายความร้อนมีน้อยลงจึงต้องออกแบบหม้อแปลงเป็นกรณีๆไป ส่วนการเชื่อมฝาถังก็จะทำให้การซ่อมบำรุงหม้อแปลงมีความยุ่งยากขึ้น
หม้อแปลงชนิด N2 Gas Sealed มักนิยมติดอุปกรณ์วัดความดัน (Pressure Gauge) เพื่อผู้ใช้งานได้เห็นค่าความดันจริงและเพื่อตรวจสอบสถานะของก๊าซไนโตรเจนว่ายังคงมีอยู่หรือถูกดันให้รั่วออกไปแล้ว